ตาลปัตร เครื่องประกอบสมณศักดิ์
พัดเป็นคำนามหมายถึงเครื่องโบกหรือกระพือลม ภาษาบาลีเรียกว่าวิชนี ไทยอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นพัชนีและต่อมาคงเรียกกร่อนคำให้สั้นลงเหลือเพียง พัช โดยออกเสียงว่า พัด ซึ่งคำนี้ไทยคงใช้เรียกกันและเขียนกันจนลืมต้นศัพท์ไป พัดที่ฆราวาสใช้พัดวีให้ความเย็นนั้นมีหลายรูปแบบและทำด้วยวัสดุต่างๆตามแต่ฐานะของผู้ใช้พัดจึงมีทั้ง พัดใบตาล ซึ่งเป็นพัดที่เก่าที่สุดมีทั้งแบบที่มีด้ามตรงกลางและด้านข้างและชนชั้นสูงนำมาใช้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์อย่างหนึ่งโดยเรียกว่า สุวรรณวาลวิชนี นอกจากนี้มีพัดขนนก พัดโบก พัดด้ามจิ๋ว
ความเป็นมาของการใช้ ตาลปัตร พัดยศ และพัดรองของพระสงฆ์ไทย คำว่า วิชนี หรือ พัชนี เดิมมักหมายเรียกเครื่องพัดโบกสำหรับผู้สูงศักดิ์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เรียก ตาลปัตรของพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงใช้ ซึ่งเดิมทำด้วยใบตาลแต่ในระยะดังกล่าวทำด้วยผ้าแพรหรือขนนกอยู่ระยะหนึ่งในการใช้พัดขนนกนั้นพระสงฆ์ไทยได้ใช้อยู่ในระยะสั้นๆส่วนพัดที่ทำด้วยผ้าแพร ผ้าโหมด หรือผ้าลายดอกต่างๆนั้นได้ใช้ตั้งแต่ระยะนั้นเป็นต้นมาจนปัจจุบัน โดยมีพัฒนาการด้านการประดับเพื่อความสวยงามและความเหมาะสมแก่สมณศักดิ์เรื่อยมาซึ่งปัจจุบันเรียกว่า พัดรอง อย่างไรก็ดีพระสงฆ์ทั่วๆไปแต่เดิมมาก็ใช้พัดที่ทำจากใบตาลเป็นพื้นซึ่งเรียกว่า “ตาลปัตร” จนเมื่อพัดรองเป็นของที่หาง่ายมีใช้ทั่วไป ตาลปัตรจากใบตาลจึงเลิกใช้ไปในที่สุด
ในปฐมสมโพธิกถามีการกล่าวถึง พัดวาลวิชนีอยู่หลายแห่งเช่น ในพุทธบูชาปริวัตถ์ เมื่อพระพุทธเจ้าบำเพ็ญสมาธิ ณ ใต้ต้นโพธิ์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นบรรดาเทพยดาทั้งหลายต่างชื่นชมและต่างได้นำเครื่องสักการบูชาต่างๆมาบูชาพระพุทธองค์เครื่องบูชาอย่างหนึ่งคือ ดอกไม้ทิพย์ที่ตกแต่งเป็นรูปพัดวาลวิชนีอันเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างหนึ่งในประเทศเมืองร้อนและถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะชั้นสูงก็จะมีการประดับตกแต่งให้มีความงดงามยิ่งขึ้นตามฐานะแม้แต่พระพุทธเจ้าเองเมื่อทรงตรัสรู้แล้วเหล่าเทพชั้นต่างๆก็แสดงความยินดีมาปรนนิบัติพระพุทธองค์ ดังปรากฏในอภิสัมโพธิปริวัตถ์ว่า “สุยามะเทวราช ทรงทิพยจามรมีคันแล้วด้วยทอง ถวายรำเพยพัดสันดุสิตเทวราชก็ทรงทิพยมณีตาลปัตร รำเพยพาน”ดังนั้นเราจึงมักจะพบว่ามีภาพประติมากรรมหลายรูปที่มีรูปพระพุทธเจ้าตรงกลาง และมีเทพชั้นสูงประทับยืนขนาบถวายงานอยู่องค์หนึ่งถือจามร(แส้)และอีกองค์หนึ่งทรงถือสิ่งที่มีรูปร่างคล้ายพัด ปรากฏว่ามีเอ่ยชื่อทั้งวาลวิชนี และตาลปัตรซึ่งดั้งเดิมคงจะหมายถึงสิ่งที่ใช้พัดวีเช่นเดียวกันแต่มีผู้ให้ความหมายต่างกันก็คงจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ทำนั้นเองคือตาลปัตรจะทำด้วยใบตาลส่วนวาลวิชนีอาจจะทำด้วยวัสดุอื่นๆ เช่นผ้าแพรหรือบางครั้งทำด้วยขนหางสัตว์จึงทำให้มีลุกษณะคล้ายจามร
พระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรในขณะเทศนาแสดงธรรมหรือไม่ ไม่มีปรากฏและไม่กล่าวถึงแม้แต่ในปฐมสมโพธิกถาแต่จะพบว่ามีของอยู่2สิ่งที่พระพุทธองค์จะทรงอยู่เป็นประจำคือ บาตร และจีวร แต่น่าสงสัยคือเมื่อพระพุทธองค์ไปโปรดปัญจวัคคีย์นั้นในธัมมจักรกปริวัตถ์มีข้อความบรรยายถึงปัญจวัคคีย์ว่า “ต่างองค์ก็อุฏฐาการออกมาต้อนรับ คำนับนบนอบอภิวาทองค์หนึ่งรับจีวรและบาตรองค์หนึ่งถวายน้ำชำระพระบวรบาทยุคล องค์หนึ่งเอาเชิงบาตรมาตั้งรองรับบาตร”จากการที่มีกล่าวว่ารับจีวรอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่าจีวรในที่นี้น่าจะหมายถึงสังฆาฏิ ทั้งนี้เพราะเครื่องบริขารของพระสงฆ์ที่ปรากฏที่มาอยู่ในปฐมสมโพธิกถามหาภินิกขมนปริวัตถ์ปริเฉทที่6ว่า ท้าวมหาพรหมนามว่า ฆฏิการพรหมได้นำเอาบริขารอันเป็นทิพย์จำนวน8สิ่งมาน้อมเกล้าถวายพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์คือ กาสาวพัสตร์1ผืน สังฆาฏิ1จีวร1สบง1บาตร1มีด1กล่องเข็ม1กายพันธน์1ผ้ากรองน้ำ1ในปัจจุบันพระสงฆ์ของไทยเราก็มีเครื่องบริขาร8อย่างเช่นกัน และบางอย่างก็ดัดแปลงให้ใช้ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น ผ้ากรองน้ำก็เปลี่ยนเป็นที่กรองน้ำ ส่วนกายพันธน์ก็คือ รัตคตหรือรัดประคตนั่นเอง
อย่างไรก็ดีสำหรับไทยเรามีพระสมณะที่ทรงถือตาลปัตรเป็นประจำเมื่อเวลาจะเทศนาแสดงธรรมจนเป็นบุคลิกประจำพระองค์อยู่2องค์คือ
1. พระอาริยเมตไตรย หรือพระศรีอาริย์ โดยจะทำเป็นรูปพระสงฆ์ประทับนั่ง พระหัตถ์ซ้ายแสดงธยานมุทรา หรือปางสมาธิ พระหัตถ์ขวาทรงถือตาลปัตร บังพระพักตร์อยู่เป็นการแสดงถึงว่าพระโพธิสัตว์กำลังเทศนาธรรมนั่นเอง 2. พระมาลัย เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งที่ทรงเมตตาต่อสัตว์นรกจึงเสด็จลงไปโปรด ประติมากรรมจะแสดงภาพพระมาลัยด้วยรูปของพระสงฆ์อยู่ในท่าธุดงควัตร สะพายบาตร และถือตาลปัตร
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงถือตาลปัตรอีกคือ “พระชัย” หรือ “พระชัยวัฒน์” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงประทานความเห็นไว้ว่า “พระชัยคือพระมารวิชัยนั่นเองทำพระหัตถ์ซ้ายเป็นอาการทรงสมาธิให้ตะแคงเป็นถือตาลปัตร ตาลปัตรนั้นก็เป็นยศด้วยถ้าเป็นพระหลวงแล้วถือพัดแฉก” พระชัยประจำรัชกาลต่างๆในราชวงศ์จักรีตาลปัตรจะมีขนาดใหญ่พอปิดพระพักตร์ได้มิดแต่พระชัยประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีขนาดเล็กไม่ปิดพระพักตร์แต่ก็มิอาจชี้แจงได้ว่า ตาลปัตรของพระสงฆ์มีขนาดใหญ่ปิดหน้าได้นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไรพระชัยนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์สร้างเป็นพระประจำรัชกาล ในสมัยโบราณเมื่อเวลามีศึกสงครามจะอัญเชิญไปบนหลังช้างด้วยจึงเรียกว่า พระชัยหลังช้างเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองให้ได้ชัยชนะด้วยมีตาลปัตรคอยกำบัง
ตาลปัตรหรือพัดที่ทำจากใบตาลนี้เป็นของที่จัดว่าเป็นมงคลอย่างหนึ่งใน108สิ่งที่ปรากฏในรอยพระพุทธบาทและมีกล่าวในศิลาจารึกบ้านนางคำเยีย พ.ศ.1922 ด้วย โดยเรียกว่า ตาลวณฺฏํ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าตาลปัตรหรือพัดที่ทำจากใบตาลเป็นพัดที่เก่าที่สุดมีมาตั้งแต่เดิมในพระพุทธศาสนาการที่พระสงฆ์นำตาลปัตรมาใช้นั้นได้มีผู้อธิบายให้ความเห็นกันไปต่างๆบางท่านก็ว่าการใช้ตาลปัตรครั้งแรกดั้งเดิมจริงๆมิได้นำมาเพื่อใช้บังหน้าในระหว่างเทศน์แต่ประการใดแต่ใช้กันกลิ่นเหม็นศพที่เน่าเปื่อยเพื่อจะบังสุกุลผ้าห่อศพไปทำจีวร
สำหรับการใช้จีวรที่ทำจากผ้าบังสุกุลมีกล่าวถึงในอุรุเวลามนปริวัตต์ว่า “ในการนั้นผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมครูฯเสด็จพระพุทธดำเนินไปชักผ้าบังสุกุล ซึ่งห่ออศุภนางปุณณทาสีในอามกสุสานป่าช้าผีดิบ แล้วนำมาสู่ พณสณฑ์สำนัก” ด้วยเหตุที่ในสมัยโบราณพระสงฆ์จะต้องไปเอาผ้าห่อศพจริงๆมาทำจีวรเมื่อศพที่กำลังเน่าเปื่อยจะมีกลิ่นเหม็นท่านจึงใช้ใบตาลขนาดเล็กมาบังจมูกกันกลิ่น จากนั้นต่อมาจึงเกิดเป็นประเพณีของพระสงฆ์ที่จะถือตาลปัตรไปทำพิธีต่างๆโดยเฉพาะในพิธีปลงศพ อย่างไรก็ดีบางความเห็นก็ว่าการที่พระต้องถือตาลปัตรในระหว่างแสดงพระธรรมเทศนาหรือสวดพระปริตรเหล่านี้ก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรเมื่อเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาซึ่งคือพระเจ้าสุทโธทนะ พระสงฆ์จึงปฏิบัติตามแต่จากพระปฐมสมโพธิกถาฉบับพิสดารพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสมิได้มีกล่าวถึงเรื่องนี้เลยแต่มักจะกล่าวแต่เฉพาะจีวรและบาตรเท่านั้นที่ทรงนำไปในที่ต่างๆด้วยอย่างไรก็ดีมีท่านผู้รู้สันนิษฐานไปอีกอย่างหนึ่งว่าเนื่องจากสภาพจิตใจของผู้ที่ฟังธรรมมีหลายระดับดังเคยมีเรื่องเล่า
ว่าพระสังกัจจายน์ซึ่งเป็นพระสาวกที่สำคัญรูปหนึ่งขณะที่ได้แสดงธรรมโปรคดอุบาสกอุบาสิกาอยู่นั้นเนื่องจากท่านเป็นผู้มีลักษณะดีรูปงามาก จึงทำให้สตรีบางคนหลงรักท่านอย่างมาก ด้วยภาวะจิตอันไม่บริสุทธ์ของสตรีเหล่านั้นจึงก่อให้เกิดบาปขึ้นพระสังกัจจายน์ทราบด้วยญาน ดังนั้นท่านจึงได้อธิษฐานขอให้ท่านมีรูปร่างไม่งามเสีย เราจึงเห็นรูปพระสังกัจจายน์เป็นพระสงฆ์ที่มีรูปร่างอ้วน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้พระสงฆ์หาเครื่องกำบังของหน้าท่านเวลาที่แสดง หรือ ประกอบกิจพิธีเพราะต้องการให้ผู้ฟังได้ฟังธรรมจากท่านเท่านั้น เรื่องนี้ปรากฏว่าเป็นประเพณีที่น่าสนใจเพราะมีเครื่อง
ยืนยันอยู่ คือ ธรรมาสน์ยอดคล้าย ๆ มณฑป มีที่สำหรับพระที่นั่งอยู่ข้างบนเวลาขึ้นต้องปีนบันไดขึ้นไป และ ธรรมาสน์ยอดนี้ เมื่อเวลาพระเทศน์จะดึงม่านออกมาปิดมิให้ผู้ฟังได้เห็นหน้าพระสงฆ์ที่กำลังเทศน์อยู่ เรายังเห็นประเพณีนี้ได้ทางภาคเหนือ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่น่าสนใจเช่นกัน
แม้ว่าต้นกำเนิดของการที่พระสงฆ์ต้องถือตาลปัตร หรือปัจจุบันคือพัดรองนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนว่ามีความเป็นมาจริง ๆนั้น เป็นอย่างไรแน่ สมด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานความเห็นไว้ว่าความคิดในการที่ให้พระสงฆ์ถือตาลปัตรคงมาจากลังกา เพราะเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธประวัติมีอยู่ในหนังสือ ปฐมสมโพธิซึ่งต้นฉบับเขียนขึ้นในลังกาโดยพระพุทธรักขิตาจารย์ และไทยเรานั้นรับมาเมื่อลัทธิลังกาวงศ์ได้แพร่เข้ามา และเป็นที่เลื่อมใสในประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง พม่า ไทย ลาวและกัมพูชา
คติการถือตาลปัตรของพระสงฆ์ไม่อาจจะยืนยันว่า เป็นคติดั้งเดิมจากอินเดียได้ เพราะเท่าที่ได้ตรวจสอบศึกษาศิลปะอินเดียโบราณสมัยต่าง ๆ โดยเฉพาะจากประติมากรรมยังไม่พบรูปพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ หรือพระสมณะถือตาลปัตรเลย ไม่ว่าจะเป็นศิลปกรรมสมัยคันธาระ สมัยมถุรา สมัยอมราวดี สมัยคุปตะ สมัยหลังคุปตะ และสมัยปาละในศิลปกรรมอินเดียโบราณ เมื่อจะแสดงภาพพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาจะทำรูปพระพุทธพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ ในท่าประทับนั่งขัดสมาธิ หรือประทับนั่งบนบัลลังก์ห้อยพระบาท หรือแม้แต่ประทับยืน จีบนิ้วพระหัตถ์แสดงวิตรรกมุทรา หรือธรรมจักรมุทราเสมอมิได้ถือตาลปัตร แต่พบว่าเทพบริวารสององค์ที่อยู่ขนาบองค์พระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ องค์หนึ่งซึ่งปรากฏในพระปฐมสมโพธิกถาว่าคือ สันดุสิตเทวราช จะถือพัด ซึ่งคงจะเป็นที่เรียกว่า วิชนี มีรูปร่างพัดใบตาลอยู่เบื้องขวา และอีกองค์หนึ่งคือสยามะเทวราชทรงถือจามร (แส้) อยู่เบื้องซ้ายเพื่ออยู่งานด้วย และอาจจะเป็นเครื่องแสดงดุจเป็นเครื่องสูงที่ใช้ถวายพระสมณศักดิ์แห่งพระองค์ท่านด้วย
จากการที่หนังสือปฐมสมโพธิกถาเป็นหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธประวัติที่เขียนขึ้นในลังกา ดังนั้น การที่พระสมณะถือตาลปัตรไปแสดงธรรมในที่ต่าง ๆ จึงน่าจะมาจากลังกา และเมื่อลัทธิลังกาวงศ์ได้เป็นลัทธิที่พระพุทะศาสนิกชนเลื่อมใสกันอย่างยิ่งยุคนั้นจนมีความเชื่อกันว่า พระสงฆ์ที่ได้บวชเรียนในลัทธิลังกาวงศ์นั้น จะต้องมีความรู้ทางพระศาสนาลึกซึ้งมากกว่าพระสงฆ์ที่บวชในลัทธิอื่นที่มีมาแต่เดิมดังนั้น เมื่อพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะในเขตราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันได้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจากลังกาวงศ์แล้วก็ย่อมรับเอาพิธีกรรมและประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสังฆพิธีมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถือตาลปัตรหรือการตั้งสมณศักดิ์
ถ้าเชื่อกันว่าพระสงฆ์ไทยรับประเพณีการถือตาลปัตรมาจากลังกาแล้ว การแพร่ของลัทธิลังกาวงศ์อาจจะมีมาก่อนสุโขทัยในรัชกาลพระเจ้าลิไทก็ได้ เพราะได้พบประติมากรรมสำริดศิลปกรรมแบบลพบุรี ที่มีอายุราวระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 ซึ่งมีรายละเอียดเป็นแผ่นภาพนูนต่ำสองด้าน ด้านหนึ่งแสดงภาพพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรแสดงพระธรรมเทศนา โปรดพระพุทธบิดาและญาติ อีกด้านหนึ่งเป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดุสิต ตาลปัตรที่ปรากฏมีลักษณะคล้ายพัดตาลรูปกลมมนขนาดเล็ก ตรงกลางคาดตับมีด้ามสั้นต่อลงมา อันเป็นลักษณะเดียวกับตาลปัตรที่ปรากฏอยู่บนแผ่นใบเสมาศิลาจำหลักภาพนูนต่ำ ศิลปกรรมแบบลพบุรี แสดงภาพพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ประทับบนดอกบัวองค์ละดอก ซึ่งมีก้านเชื่อมต่อกันพระพุทธเจ้าองค์ที่ประทับอยู่ตรงกลางเหนือองค์อื่น ๆทรงถือตาลปัตรขนาดเล็กในพระหัตถ์ขวา แสดงว่ากำลังแสดงธรรม
ศิลปกรรมทั้งสองชิ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ลัทธิลังกาวงศ์ได้แพร่เข้ามาแล้วก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาตลอดทุกที่ไม่เฉพาะแต่ที่อาณาจักรสุโขทัย แต่แพร่ไปทางอาณาจักรล้านา และแพร่ไปยังอาณาจักรอโยธยาด้วย เพราะได้พบหลักฐานศิลปกรรมอีกนั่นคือ
ในสมัยสุโขทัยเป็นที่ทราบกันอย่างดีแล้วว่า เป็นยุคที่เลื่อมใสลัทธิลังกาวงค์อย่างมาก แม้แต่เจ้านายในพระราชวงค์ก็ได้ออกผนวชเป็นพระมหาสามี มาจากลังกา พ.ศ. 1904 คือ “พระสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า” และเมื่อเสด็จกลับมาประทับอยู่ที่วัดป่ามะม่วงที่พระเจ้าลิไทถวาย และทรงเป็นเจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี พระเจ้าลิไทเองทรงมีศรัทธาได้ออกผนวชอยู่ระยะหนึ่งด้วย
งานศิลปกรรมที่แสดงหลักฐานเกี่ยวกับลักษณะของตาลปัตรได้อย่างดีในยุคนี้ คือ ภาพศิลาจำหลักในวัดศรีชุม ซึ่งสลักภาพเล่าเรื่องชาดกต่าง ๆมีอยู่ 2 ภาพ คือ ภาพชาดก เรื่อง“กัณฑินชาดก”และ“มตกภัตตชาดก”ที่แสดงภาพพระโพธิสัตว์กำลังถือตาลปัตร ขณะที่ทรงแสดงธรรม รูปร่างของตาลปัตรก็คล้ายกับที่ปรากฏในศิลปะลพบุรีที่กล่าวไปแล้ว คือ มีลักษณะแบบใบตาลรูปกลมมนขนาดเล็กเหมือนใบตาลที่ชาวบ้านทั่วไปยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน
ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง มี“อโยธยา” ที่เลื่อมใสศรัทธาในลัทธิลังกาวงศ์เช่นกัน และพระสงฆ์ก็ใช้ตาลปัตรขนาดเล็ก เช่นเดียวกับที่อื่นได้พบงานศิลปกรรม ประติมากรรมศิลาจำหลัก ศิลปะแบบอู่ทอง เป็นภาพพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรขนาดเล็กเช่นกัน จึงทำให้เชื่อแน่ได้ว่า เดิมมานั้นในเขตราชอาณาจักรไทยพระสงฆ์ถือตาลปัตรขนาดเล็กไว้เบื้องหน้า ในขณะแสดงธรรม แต่ขนาดของตาลปัตรจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นตั้งแต่เมื่อใดนั้นยากที่จะกำหนดเวลาลงได้
มีภาพพระโพธิสัตว์ทรงถือตาลปัตร อีก 1 ภาพคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดใหญ่อินทราราม เรื่อง มโหสถชาดก ตอนพระมโหสถเผชิญหน้ากับทัพกษัตริย์จากร้อยเอ็ดนคร ตาลปัตรที่ทรงถือมีรูปร่างคล้ายวาลวิชนีประเภทพัดโบกทำด้วยใบตาล ที่มีด้ามยาวโค้งออกข้าง ๆ
ส่วนนักบวชที่มิได้เป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็ปรากฏว่ามีการถือตาลปัตรด้วยดังเช่น จิตกรรมฝาผนังที่วัดช่องนนทรี อันเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนภาพทศชาติตอนชาดก เรื่องพรหมนารถก็มีภาพพระเจ้าอังคติกำลังสนทนากับเดียรถีย์ ซึ่งแสดงตนเป็นบรรพชิตนั่งอยู่เหนือพระองค์ เดียรถีย์ในภาพจะถือพัดขนาดเล็กรูปร่างคล้ายตาลปัตรจึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า ตาลปัตรในสมัยโบราณอาจจะในเครื่องหมายแสดงความเป็นนักบวชก็ได้กระมัง เพราะแม้แต่ฤาษีก็ยังถือพัด ซึ่งบางครั้งก็มีรูปร่างคล้ายวาลวิชนีและบางครั้งก็เป็นรูปร่างคล้ายพัดขนนก ซึ่งพระสงฆ์ไทยก็ใช้ตาลปัตรอยู่ระยะหนึ่งเช่นกัน
พัฒนาการของรูปแบบตาลปัตรน่าจะมีการสร้างให้วิจิตรขึ้นเมื่อฆราวาสได้ความคิดที่จะถวายเครื่องใช้ของพระสงฆ์ให้งดงามมีค่าสมควรแก่ท่าน เพื่อตนจะได้บุญกุศลที่สามารถส่งผลให้ตนได้ในสิ่งที่ปรารถนา อย่างเช่น การอธิฐานขอให้บุญกุศลที่ตนสร้างทุกอย่างทำให้ตนได้เกิดทันศาสนาของพระไมเตรยโพธิสัตว์ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ พระศรีอาริย์ หรือพระอาริยไมตรีหรือพระศรีอาริยเมตไตรย ที่ปรากฏในจารึกเสมอ
ตามที่ท่านกล่าวมาแล้วฆราวาสที่ศรัทธาเมื่อเห็นว่าตาลปัตรเป็นของอย่างหนึ่งที่พระสงฆ์ใช้ จึงคิดนำพัดของตนที่ใช้อยู่อาจจะทำจากไม้ไผ่สานหรือทำจากขนนกไปถวายให้พระใช้ถือแทนพัดที่ทำจากใบตาล อาจจะถวายด้วยตนเอง หรือทายาทนำของบิดา มารดาที่ล่วงลับไปแล้วไปถวาย เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บิดา มารดาของตน ดังนั้น ตาลปัตรจึงได้เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ มีพัฒนาการเช่นเดียวกับงานศิลปกรรมอื่น ๆ ดังจะได้เห็นว่าตาลปัตร นอกจากมีทำด้วยใบตาลแล้วยังมีทำด้วยวัสดุอื่น ๆ ที่คิดว่างามและหายาก เช่น ไม้ไผ่สาน งาสาน ขนนก ผ้าแพรอย่างดี ผ้าโหมดอย่างดี มีการประดับด้วยการปักดิ้นทอง ปักไหม ประดับอัญมณีต่าง ๆ สุดแต่ผู้ศรัทธาจะถวายและเมื่อเป็นพระสงฆ์มีสมณศักดิ์ด้วยแล้วเครื่องประกอบสมณศักดิ์ก็มีมากขึ้นตามฐานันดรของแต่ละรูป ตาลปัตรก็กลายเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์ที่สำคัญยิ่ง จึงเกิดมีการถวายตาลปัตรที่งดงามตามสมณศักดิ์ขึ้น เรียกว่า พัดยศ
อย่างไรก็ดี ตาลปัตร หรือพัดที่ทำจากใบตาลคงเสื่อมความนิยมลงทีละน้อย ๆ ด้วยเหตุว่าเป็นของพื้นบ้านหาง่ายไม่คู่ควรที่จะถวายอีกต่อไปประกอบกับในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเกิดมีตาลปัตรรูปรีตัวตาลปัตรงองุ้มใช้กันอยู่ระยะหนึ่งคู่ไปกับพัดขนนกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดในรูปร่างของพัดแบบนี้ด้วยว่ารูปร่างไม่เป็นมงคล คล้ายจวักที่ใช้ตักแกง จึงทรงคิดดัดแปลงตาลปัตรให้มีรูปกลมมนคล้ายพัดใบตาลเป็นแต่ทำโครงขึ้นด้วยไม้ไผ่ แล้วใช้ผ้าแพรอย่างดีคลุมทั้งสองหน้า ขลิบด้วยผ้าโหมด โปรดให้ใช้แทนตาลปัตรรูปงอนั้น โดยเรียกว่า พัดรอง
การถวายตาลปัตรแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ปรากฏหลักฐานมีทั้งในประวัติศาสตร์ของสุโขทัยและของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สหภาพพม่า สำหรับในพม่านั้นได้พบหลักฐานดังกล่าวใน จารึกกัลยาณี ซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าหงษาวดีรามาธิบดี ได้ทรงปรารถนาที่จะฟื้นฟูศาสนาในประเทศ จึงทรงแต่งทูตพาพระเถระมอญ 22 รูป ไปบวชแปลงจากลัทธิพื้นเมืองเดิม เป็นลัทธิลังกาวงศ์ในประเทศลังกาครั้งนั้นเรียกว่า สิงหลทวีป ซึ่งขณะนั้นทางลังกามี พระเจ้าภูวเนกพาหุ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ได้ทรงถวายราชทินนามแด่พระเถระมอญที่ได้บวชแปลงในครั้งนั้นทุกรูปด้วยกับทั้งพระราชทาน “ของควรแก่สมณะ” หลายอย่าง และอย่างหนึ่งคือ “ตาลปัตรมีด้ามอันแล้วด้วยงา” รูปละเล่มด้วย นอกจากนี้ยังพบภาพจิตกรรมฝาผนังภาพเล่าเรื่องพระพุทธประวัติตอนพระเจ้าปะเสนทิโกศลทูลเกล้าฯถวายตาลปัตรแด่พระพุทธเจ้าแต่เป็นภาพเขียนสมัยหลังในพุทธศตวรรษที่ 23
สำหรับหลักฐานของไทยที่กล่าวถึงการถวายตาลปัตรแก่พระเถระก็มีเช่นกัน โดยปรากฏอยู่ในศิลาจาลึกวัดช้างล้อม พ.ศ. 1927 ซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า “พัดสวดธรรม” และคงเป็นประเพณีสืบต่อมา
|